ป่าหลังเขาในยุคบุกเบิก

การขึ้นไปป่าหลังเขาในต้นปี ๒๕๑๒ นั้น เดิมทีหลวงพ่อบุญธรรมตั้งใจจะไปเพียงเที่ยวป่าเล่นๆเท่านั้น แต่ความอุดมสมบูรณ์และความงดงามของธรรมชาติของป่าหลังเขา ในปีนั้นสิได้เปลี่ยนความตั้งใจของหลวงพ่อไปเสีย พอใกล้ฤดูพรรษาปีถัดมาพระองค์อื่นที่เดินทางมาด้วยกัน ต่างกลับลงเขาไปจำพรรษาอยู่ ณ สำนักของหลวงพ่อเทียนกันหมด เหลือหลวงพ่อบุญธรรมจำพรรษาอยู่กลางป่าเพียงองค์เดียว ท่านเล่าว่าคืนแรกๆ ที่ต้องอยู่คนเดียวนั้น หมีใหญ่สองตัวกัดกันเสียงดังลั่นป่า เล่นเอาท่านนอนไม่ หลับ ต้องมาพิจารณาเปรียบเทียบตัวท่านเองกับสุนัขที่นอนหน้ากุฏิ สุนัขไม่เห็นกลัวทั้งๆ ที่นอนกับดิน ตัวท่านเองสิมีกุฏิยกพื้นเสียอีก การที่มนุษย์เรียกตนเองว่าสัตว์ประเสริฐนั้นกลับมาคิดฟุ้งซ่านแต่เรื่องบ้าๆ ท่านแข็งใจอยู่ต่อ ชาวบ้านกลัวท่านตกใจจะหนีลงเขา จึงเตรียมจัดเวรมาอยู่เป็นเพื่อน ท่านก็ไม่ยอม ไม่นานนักท่านก็ปรับตัวเข้ากลับป่าได้ และท่านก็อยู่องค์เดียวกลางป่าถึง ๓ พรรษา มีพระอื่นมาจำพรรษาด้วยก็ในพรรษาที่ ๔ เข้าไปแล้ว

การแยกตัวออกมาจากสำนักหลวงพ่อเทียนมาอยู่ที่ป่าหลังเขานั้น ค่อนข้างจะฝืนมติกลุ่มมาก แม้แต่พระอาจารย์คำเขียนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องและเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียว กัน ก็ยังเคยขึ้นมาตามถึงหลังเขา ขอให้ลงไปช่วยกันฟื้นฟูพระศาสนา หลวงพ่อก็ปฏิเสธคงลงไปช่วยในงานอบรมกรรมฐานเป็นครั้งคราว แต่ที่ไปประจำก็คือการอบรม กรรมฐานที่บ้านหนองแก บ้านเดิมของท่านเองซึ่งหลวงพ่อคำเขียนเป็นหลักคู่กับหลวงพ่อบุญธรรม จัดมาแต่ปี ๒๕๑๔ ในการสืบประเพณีกรรมฐานในชุมชนแห่งนี้ตลอด มาจนถึงปัจจุบันไม่ขาด

ภูโค้ง หรือที่ทางการเรียกว่า “ภูแลนคา” เป็นจุดเริ่มต้นของขุนเขา ซึ่งทอดไปเป็นเทือกต่อไปจรดแดนเพชรบูรณ์ ทอดเป็นทิวยาวลงใต้ต่อแนวดงพญาเย็น ซึ่งเป็นเทือก เขาขวางกั้นภาคอีสานออกจากภาคกลาง แบ่งลุ่มน้ำโขงออกจากเจ้าพระยา ความเก่าแก่ของขุนเขา ทำให้ยอดเขาสึกกร่อนกลายเป็นที่ราบสูงๆ ต่ำๆ แผ่เป็นบริเวณกว้าง คลุมยอดเขานับหมื่นนับพันไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าหลังเขานี้คล้ายกับเป็นพรมป่าไม้หนาทึบ ความเยือกเย็นของผืนพรมป่าไม้นี้ได้ดูดซับความชุ่มชื่นของเมฆฝนไว้ อย่างเต็มอิ่ม และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของลำน้ำปะทาว ซึ่งไหลเลาะป่าหลังเขาไปทางตะวันออก และเป็นหนึ่งในสายน้ำต้นกำเนิดของลำชี อันหล่อเลี้ยงอีสานตอนบน หลวงพ่อเคยเล่าถึงความชุ่มชื้นแห่งป่าหลังเขาในอดีตว่า ฤดูฝนเสื่อสาดต้องตากผึ่งแดดลมทุกวัน เป็นที่หล่อเลี้ยงทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์บนป่าหลังเขา ฤดูร้อนไม่เคยร้อน เพราะเงาป่ายังหนามิฉะนั้นเราจะขึ้นในข้ามวันและสายน้ำลำปะทาวไม่เคยแห้งแม้ในปีที่ แล้งจัด ฤดูหนาวก็ไม่หนาวจัดเหมือนพื้นราบอันโล่ง ถึงฤดูฝนน้ำก็ไม่เคย ท่วมและพายุก็ไม่รุนแรงเพราะมีป่ารองรับชั้นนึงก่อน ป่าไม้ที่มีอยู่ก็เป็นป่าชั้นหนึ่ง ชนิดยังบริสุทธิ์จากการรุกรานของกิเลสมนุษย์ ไม้ตะเคียนทองอันมีค่ายิ่งก็ยังมีมากพงอ้อและกอหญ้าคา กลับเป็นสิ่งหายาก เพราะไม่มีโอกาสเกิด ด้วยเหตุที่ป่าปกแสงไม่ถึงดินแม้จะมืด แต่พื้นล่างของป่าก็โปร่งทางเดินสะดวก ไฟป่าไม่เคยปรากฏ เพราะความร้อนไม่เคยตกถึงพื้นป่า ขณะเดียวกัน ความชุ่มชื่นก็ไม่เคยหมดไปจากพื้นป่าเช่นกัน เรื่องนี้ต่างกับหลังเขาในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีหญ้าคาปกคลุมพื้นที่จำนวนมากในฤดูฝน พอหน้าแล้งก็ง่ายที่จะกลายเป็นทะเลเพลิง ยิ่งระยะหลังเพลิงป่ายังลามเข้าไปเผาไหม้ แม้ในเขตป่า ของอารามวัดสุคะโตทีเดียว

ปีแรกๆ หลวงพ่อบุญธรรมใช้เวลากับการธุดงค์ สำรวจป่าไม้และสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ทำความรู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านและธรรมชาติทั้งมวล หลวงพ่อ เคยเดินไปถึงชายแดน ต่อเขตวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ชีวิตพระธุดงค์มักมีเรื่องตื่นเต้นเสมอๆ หลวงพ่อเล่าว่ามีครั้งหนึ่งพระธุดงค์ไปปักกลดกลางป่า ครั้งนั้นหลวงพ่อไม่ได้ไปด้วยกลางดึกคืนหนึ่ง ก็มีอาคันตุกะตัวใหญ่มาเขย่ากลด เมื่อการเผชิญหน้าที่แท้จริงเกิดขึ้น ทั้งพระธุดงค์และอาคัoตุกะเจ้าของป่าต่างก็ตกใจ หันหลังให้กันแล้วออกวิ่งทั้งคู่ รุ่งเช้าจึงพบความจริงว่าไปปักกลดขวางทางช้างผ่าน

จากการธุดงค์ ทำให้หลวงพ่อรู้จักชาวบ้านบนหลังเขาแทบทุกบ้าน ซึ่งขณะนั้นบ้านท่ามะไฟหวานมีชาวบ้านอยู่เพียง ๓๐ กว่าหลังคาเรือน บ้านกุดโง้งมีเพียง ๑๕ หลังคา เรือนเท่านั้น ทางขึ้นยังต้องเดินเท้า ลัดเลาะปีนป่ายจากตีนเขาขึ้นมา ทางรถยังไม่มีชาวบ้านในสมัยนั้นปลูกข้าวกินเป็นหลัก การปลูกเพื่อขายยังมีน้อย หลวงพ่อเล่าว่า ผู้คนที่อพยพขึ้นไปบุกเบิกป่าหลังเขาในยุคต้นนั้น ไม่ใช่อพยพเพราะแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าชีวิตทางที่ราบเบื้องล่างจะฝืดเคือง แต่เป็นเพราะปัญหาส่วนตัว บางคนหนีคดีขึ้นมากลับเนื้อกลับตัวก็มี ลักษณะสังคมของชุมชนหลังเขาในยุคต้น ก็คล้ายกับชุมชนอดีตโจรใหญ่น้อยจากสารทิศหนีภัยอาญามาพักพิง

ข้าวโพดและมันสำปะหลังเพิ่งจะจู่โจมขึ้นมาบนหลังเขาเมื่อปี ๒๕๑๗ การแพร่ระบาดของพืชเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐจากกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างน่าตกใจ ป่าหลังใหญ่ถูกทำลายผืนแล้วผืนเล่าเพียงปลูกฟื้นต้นเล็กๆ ขายแลกเป็นเงิน ชาวนาจากทั่วภูมิภาคอิสาน ซึ่งเล่าลือกิตติศัพท์ของความอุดมสมบูรณ์ แห่งป่าหลังเขาประกอบกับ ตื่นตูมกับราคามันและข้าวโพด ทำให้ผู้คนยกขบวนอพยพขึ้นไปจับจองหรือแบ่งซื้อที่บนหลังเขาเพื่อว่าวันหนึ่งจะร่ำรวย เป็นเหตุให้ชุมชนบ้านท่ามะไฟ หวานและบ้านกุดโง้งขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับชุมชนใหม่ๆ และนี่คืออวสานของป่าใหญ่หลังเขา

มีสิ่งหนึ่งที่น่าจะบันทึกไว้ก็คือ หญ้าคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวบ้านปลูกไร่ข้าวโพด พูดกันว่าหญ้านี้มากับพันธุ์ข้าวโพดที่ชาวบ้านแถบวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เอามาปลูกบนภูโค้ง ก่อนหน้านั้นไม่มีหญ้าคอมมิวนิสต์บนนั้นเลย

การที่มีหลวงพ่อจากต่างถิ่นขึ้นมาจำพรรษาบนป่าหลังเขาย่อมเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ของชาวบ้าน ที่ได้มีโอกาสทำบุญสุญทานสะดวก มีที่พึ่งทางจิตใจประกอบกับ กับอัธยาสัยอันงดงามของหลวงพ่อบุญธรรม ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงช่วยกันบริจาคผืนดินที่จับจองแล้วสลับแลกเปลี่ยนกันเอง จนได้เป็นแปลงใหญ่ที่มีผืนป่าติดต่อกันผืนใหญ่ รวมเนื้อที่แล้วประมาณ ๕๐๐ ไร่ หลวงพ่อเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับชาวบ้านในอดีตว่า อบายมุขเป็นเรื่องปกติและรุนแรงบนชุมชนหลังเขา แต่ท่านไม่เคยไปเทศนาเล่นงานชาวบ้านในเรื่องอบายมุขเลย เพียงแต่พบว่างานบ้านไหนนิมนต์ท่านแล้วเอาเหล้ายาและการพนันมากินมาเล่นให้เห็น ครั้งต่อไปแม้นิมนต์ก็ไม่ไป ปล่อยให้เสียงานไปเลย วิธีนี้ได้ผลเพราะชาวบ้านกลัวกันมาก การที่หลวงพ่อไม่ยอมประนีประนอมกับอบายมุข แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ไปปะทะโดยตรง เพียงแต่สร้าง เงื่อนไขให้ชาวบ้านต้องเลือกเอาระหว่างบุญกับเหล้ายา และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เลือกบุญ ไม่เฉพาะแต่เหล้ายาเท่านั้น กัญชาอันเคยมีอุดมถมถื่นบนหลังเขาก็ค่อยๆลดลงอย่างเห็นได้ชัด