” ป่าไม้ร้องไห้ แม่น้ำล้มป่วย แผ่นดินเป็นอัมพาต อากาศเป็นพิษ ใครเป็นตัวแทน ของธรรมชาติจึงอาศัยพวกเรานี้แหละ เวลานี้มาหาเสียงเพื่อเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนธรรมชาติ ที่เราพึ่งพาอาศัยอยู่นี้ ให้มีผู้ที่รับผิดชอบ แต่ว่าคนเรานี้มีสส. มีผู้ว่าฯ มีหน่วยงาน ที่มารับผิดชอบเรา แต่ว่าธรรมชาติ คือว่าป่าไม้แผ่นดิน แม่น้ำ อากาศ กำลังเป็นพิษเป็นภัยอยู่ เวลานี้แผ่นดินเป็นอัมพาตไปแล้ว มันตายไปแล้วครึ่งหนึ่งก็ว่าได้
ถ้าจะดูหลวงพ่อก็เกิดมานานเหมือนกัน เอาเลข 7 ไพล่หลังแล้ว สมัยก่อนฝนก็ ไม่มากไม่น้อยกับสมัยนี้เกินกันเท่าไหร่ แต่ทำไมน้ำก็ไม่ท่วมมากเหมือนทุกวันนี้ ดินก็ไม่ถล่มเหมือนทุกวันนี้ ก็เพราะดินสมัยก่อน ดินยังไม่ตาย เวลาฝนตกลงมา ดินก็ดูดซับน้ำได้ เพราะดินไม่ตายสามารถเก็บน้ำไว้ใต้ผืนดินได้ อย่างหลวงพ่อ อยู่วัดป่าสุคะโต สมัย 30 กว่าปี เมื่อเวลาฝนตกนี้ ไม่เห็นน้ำไหลเลยแต่ว่าน้ำห้วยก็ค่อยตึงขึ้นตึงขึ้นไม่เห็นน้ำไหลเหมือนทุกวันนี้ ทุกวันนี้ฝนตกเม็ดหนึ่งก็ไหลเม็ดหนึ่ง อะไรมันเกิดขึ้น เพราะส่วนมากดินมันตาย ทำไมดินมันตายเพราะคนเราฆ่า ดินกันฉีดยาเคมี ปราบหญ้าอะไรต่างๆ หลายอย่างที่ทำให้ดินมันตาย จนเดี๋ยวนี้ลูกปลาไม่มีแล้ว ต้นไม้บางประเภท ลูกไม้บางประเภท ไม่เกิดลูกแล้ว ต่อไปคนนกก็จะเป็นหมันอีก เพราะอะไร เพราะคนเราทำลาย…”
หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
จากดำริข้างต้นของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ พระผู้ใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติบนเทือกเขาภูแลนคากว่า ๔๐ ปี โครงการธรรมยาตรา เพื่อฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำปะทาวก็ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๓ โดยมี พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นผู้อำนวยการขับเคลื่อนโครงการให้ดำเนินมากว่า ๑๐ ปีแล้ว
โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งในด้านศาสนธรรม การอนุรักษ์และวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเมืองได้ตระหนักถึงศักยภาพและหน้าที่ของตนในการดูแลรักษาและอยู่ร่วมกับธรรมชาติว่า ทำได้ง่าย หลายรูปแบบ เพียงเริ่มต้นจากตนเอง
การออกเดินจาริกด้วยเท้าเป็นระยะเวลา ๘ วัน ๗ คืน ของกลุ่มพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติธรรม ชาวบ้าน เยาวชน เด็กนักเรียน และกลุ่มคนที่สนใจไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตามลำน้ำปะทาวบนเทือกเขาภูแลนคา นอกจากจะก่อให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงศักยภาพ และหน้าที่ของตนต่อธรรมชาติแล้วยังเป็นการฝึกฝนตนเองของผู้เดินด้วยเช่นกัน เมื่อธรรมชาติดีงาม ผู้คนดีงาม สังคมดีงามย่อมเกิดขึ้น