;
 
 
ป่าหลังเขาในยุคบุกเบิก

การขึ้นไปป่าหลังเขาในต้นปี ๒๕๑๒ นั้น เดิมทีหลวงพ่อบุญธรรมตั้งใจจะไปเพียงเที่ยวป่าเล่นๆเท่านั้น แต่ความอุดมสมบูรณ์และความงดงามของธรรมชาติของป่าหลังเขา ในปีนั้นสิได้เปลี่ยนความตั้งใจของหลวงพ่อไปเสีย พอใกล้ฤดูพรรษาปีถัดมาพระองค์อื่นที่เดินทางมาด้วยกัน ต่างกลับลงเขาไปจำพรรษาอยู่ ณ สำนักของหลวงพ่อเทียนกันหมด เหลือหลวงพ่อบุญธรรมจำพรรษาอยู่กลางป่าเพียงองค์เดียว ท่านเล่าว่าคืนแรกๆ ที่ต้องอยู่คนเดียวนั้น หมีใหญ่สองตัวกัดกันเสียงดังลั่นป่า เล่นเอาท่านนอนไม่ หลับ ต้องมาพิจารณาเปรียบเทียบตัวท่านเองกับสุนัขที่นอนหน้ากุฏิ สุนัขไม่เห็นกลัวทั้งๆ ที่นอนกับดิน ตัวท่านเองสิมีกุฏิยกพื้นเสียอีก การที่มนุษย์เรียกตนเองว่าสัตว์ประเสริฐนั้นกลับมาคิดฟุ้งซ่านแต่เรื่องบ้าๆ ท่านแข็งใจอยู่ต่อ ชาวบ้านกลัวท่านตกใจจะหนีลงเขา จึงเตรียมจัดเวรมาอยู่เป็นเพื่อน ท่านก็ไม่ยอม ไม่นานนักท่านก็ปรับตัวเข้ากลับป่าได้ และท่านก็อยู่องค์เดียวกลางป่าถึง ๓ พรรษา มีพระอื่นมาจำพรรษาด้วยก็ในพรรษาที่ ๔ เข้าไปแล้ว

การแยกตัวออกมาจากสำนักหลวงพ่อเทียนมาอยู่ที่ป่าหลังเขานั้น ค่อนข้างจะฝืนมติกลุ่มมาก แม้แต่พระอาจารย์คำเขียนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องและเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียว กัน ก็ยังเคยขึ้นมาตามถึงหลังเขา ขอให้ลงไปช่วยกันฟื้นฟูพระศาสนา หลวงพ่อก็ปฏิเสธคงลงไปช่วยในงานอบรมกรรมฐานเป็นครั้งคราว แต่ที่ไปประจำก็คือการอบรม กรรมฐานที่บ้านหนองแก บ้านเดิมของท่านเองซึ่งหลวงพ่อคำเขียนเป็นหลักคู่กับหลวงพ่อบุญธรรม จัดมาแต่ปี ๒๕๑๔ ในการสืบประเพณีกรรมฐานในชุมชนแห่งนี้ตลอด มาจนถึงปัจจุบันไม่ขาด

ภูโค้ง หรือที่ทางการเรียกว่า “ภูแลนคา” เป็นจุดเริ่มต้นของขุนเขา ซึ่งทอดไปเป็นเทือกต่อไปจรดแดนเพชรบูรณ์ ทอดเป็นทิวยาวลงใต้ต่อแนวดงพญาเย็น ซึ่งเป็นเทือก เขาขวางกั้นภาคอีสานออกจากภาคกลาง แบ่งลุ่มน้ำโขงออกจากเจ้าพระยา ความเก่าแก่ของขุนเขา ทำให้ยอดเขาสึกกร่อนกลายเป็นที่ราบสูงๆ ต่ำๆ แผ่เป็นบริเวณกว้าง คลุมยอดเขานับหมื่นนับพันไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าหลังเขานี้คล้ายกับเป็นพรมป่าไม้หนาทึบ ความเยือกเย็นของผืนพรมป่าไม้นี้ได้ดูดซับความชุ่มชื่นของเมฆฝนไว้ อย่างเต็มอิ่ม และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของลำน้ำปะทาว ซึ่งไหลเลาะป่าหลังเขาไปทางตะวันออก และเป็นหนึ่งในสายน้ำต้นกำเนิดของลำชี อันหล่อเลี้ยงอีสานตอนบน หลวงพ่อเคยเล่าถึงความชุ่มชื้นแห่งป่าหลังเขาในอดีตว่า ฤดูฝนเสื่อสาดต้องตากผึ่งแดดลมทุกวัน เป็นที่หล่อเลี้ยงทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์บนป่าหลังเขา ฤดูร้อนไม่เคยร้อน เพราะเงาป่ายังหนามิฉะนั้นเราจะขึ้นในข้ามวันและสายน้ำลำปะทาวไม่เคยแห้งแม้ในปีที่ แล้งจัด ฤดูหนาวก็ไม่หนาวจัดเหมือนพื้นราบอันโล่ง ถึงฤดูฝนน้ำก็ไม่เคย ท่วมและพายุก็ไม่รุนแรงเพราะมีป่ารองรับชั้นนึงก่อน ป่าไม้ที่มีอยู่ก็เป็นป่าชั้นหนึ่ง ชนิดยังบริสุทธิ์จากการรุกรานของกิเลสมนุษย์ ไม้ตะเคียนทองอันมีค่ายิ่งก็ยังมีมากพงอ้อและกอหญ้าคา กลับเป็นสิ่งหายาก เพราะไม่มีโอกาสเกิด ด้วยเหตุที่ป่าปกแสงไม่ถึงดินแม้จะมืด แต่พื้นล่างของป่าก็โปร่งทางเดินสะดวก ไฟป่าไม่เคยปรากฏ เพราะความร้อนไม่เคยตกถึงพื้นป่า ขณะเดียวกัน ความชุ่มชื่นก็ไม่เคยหมดไปจากพื้นป่าเช่นกัน เรื่องนี้ต่างกับหลังเขาในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีหญ้าคาปกคลุมพื้นที่จำนวนมากในฤดูฝน พอหน้าแล้งก็ง่ายที่จะกลายเป็นทะเลเพลิง ยิ่งระยะหลังเพลิงป่ายังลามเข้าไปเผาไหม้ แม้ในเขตป่า ของอารามวัดสุคะโตทีเดียว

ปีแรกๆ หลวงพ่อบุญธรรมใช้เวลากับการธุดงค์ สำรวจป่าไม้และสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ทำความรู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านและธรรมชาติทั้งมวล หลวงพ่อ เคยเดินไปถึงชายแดน ต่อเขตวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ชีวิตพระธุดงค์มักมีเรื่องตื่นเต้นเสมอๆ หลวงพ่อเล่าว่ามีครั้งหนึ่งพระธุดงค์ไปปักกลดกลางป่า ครั้งนั้นหลวงพ่อไม่ได้ไปด้วยกลางดึกคืนหนึ่ง ก็มีอาคันตุกะตัวใหญ่มาเขย่ากลด เมื่อการเผชิญหน้าที่แท้จริงเกิดขึ้น  ทั้งพระธุดงค์และอาคัoตุกะเจ้าของป่าต่างก็ตกใจ หันหลังให้กันแล้วออกวิ่งทั้งคู่ รุ่งเช้าจึงพบความจริงว่าไปปักกลดขวางทางช้างผ่าน

จากการธุดงค์ ทำให้หลวงพ่อรู้จักชาวบ้านบนหลังเขาแทบทุกบ้าน ซึ่งขณะนั้นบ้านท่ามะไฟหวานมีชาวบ้านอยู่เพียง ๓๐ กว่าหลังคาเรือน บ้านกุดโง้งมีเพียง ๑๕ หลังคา เรือนเท่านั้น ทางขึ้นยังต้องเดินเท้า ลัดเลาะปีนป่ายจากตีนเขาขึ้นมา ทางรถยังไม่มีชาวบ้านในสมัยนั้นปลูกข้าวกินเป็นหลัก การปลูกเพื่อขายยังมีน้อย หลวงพ่อเล่าว่า ผู้คนที่อพยพขึ้นไปบุกเบิกป่าหลังเขาในยุคต้นนั้น ไม่ใช่อพยพเพราะแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าชีวิตทางที่ราบเบื้องล่างจะฝืดเคือง แต่เป็นเพราะปัญหาส่วนตัว บางคนหนีคดีขึ้นมากลับเนื้อกลับตัวก็มี ลักษณะสังคมของชุมชนหลังเขาในยุคต้น ก็คล้ายกับชุมชนอดีตโจรใหญ่น้อยจากสารทิศหนีภัยอาญามาพักพิง

ข้าวโพดและมันสำปะหลังเพิ่งจะจู่โจมขึ้นมาบนหลังเขาเมื่อปี ๒๕๑๗ การแพร่ระบาดของพืชเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐจากกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างน่าตกใจ ป่าหลังใหญ่ถูกทำลายผืนแล้วผืนเล่าเพียงปลูกฟื้นต้นเล็กๆ ขายแลกเป็นเงิน ชาวนาจากทั่วภูมิภาคอิสาน ซึ่งเล่าลือกิตติศัพท์ของความอุดมสมบูรณ์
แห่งป่าหลังเขาประกอบกับ ตื่นตูมกับราคามันและข้าวโพด ทำให้ผู้คนยกขบวนอพยพขึ้นไปจับจองหรือแบ่งซื้อที่บนหลังเขาเพื่อว่าวันหนึ่งจะร่ำรวย เป็นเหตุให้ชุมชนบ้านท่ามะไฟ หวานและบ้านกุดโง้งขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับชุมชนใหม่ๆ และนี่คืออวสานของป่าใหญ่หลังเขา

มีสิ่งหนึ่งที่น่าจะบันทึกไว้ก็คือ หญ้าคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวบ้านปลูกไร่ข้าวโพด พูดกันว่าหญ้านี้มากับพันธุ์ข้าวโพดที่ชาวบ้านแถบวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เอามาปลูกบนภูโค้ง ก่อนหน้านั้นไม่มีหญ้าคอมมิวนิสต์บนนั้นเลย

การที่มีหลวงพ่อจากต่างถิ่นขึ้นมาจำพรรษาบนป่าหลังเขาย่อมเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ของชาวบ้าน ที่ได้มีโอกาสทำบุญสุญทานสะดวก มีที่พึ่งทางจิตใจประกอบกับ กับอัธยาสัยอันงดงามของหลวงพ่อบุญธรรม ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงช่วยกันบริจาคผืนดินที่จับจองแล้วสลับแลกเปลี่ยนกันเอง จนได้เป็นแปลงใหญ่ที่มีผืนป่าติดต่อกันผืนใหญ่ รวมเนื้อที่แล้วประมาณ ๕๐๐ ไร่ หลวงพ่อเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับชาวบ้านในอดีตว่า อบายมุขเป็นเรื่องปกติและรุนแรงบนชุมชนหลังเขา แต่ท่านไม่เคยไปเทศนาเล่นงานชาวบ้านในเรื่องอบายมุขเลย เพียงแต่พบว่างานบ้านไหนนิมนต์ท่านแล้วเอาเหล้ายาและการพนันมากินมาเล่นให้เห็น ครั้งต่อไปแม้นิมนต์ก็ไม่ไป ปล่อยให้เสียงานไปเลย วิธีนี้ได้ผลเพราะชาวบ้านกลัวกันมาก การที่หลวงพ่อไม่ยอมประนีประนอมกับอบายมุข แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ไปปะทะโดยตรง เพียงแต่สร้าง เงื่อนไขให้ชาวบ้านต้องเลือกเอาระหว่างบุญกับเหล้ายา และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เลือกบุญ ไม่เฉพาะแต่เหล้ายาเท่านั้น กัญชาอันเคยมีอุดมถมถื่นบนหลังเขาก็ค่อยๆลดลงอย่างเห็นได้ชัด
                                                                                          
                     
                                                                                                                             กลับสู่ด้านบน

ช้างไพรในวัดป่าสุคะโต

เมื่อหลวงพ่อบุญธรรมได้ป่าขนาดใหญ่มาตั้งเป็นอารามสงฆ์แล้วนั้นท่านก็ได้ สร้างกุฏิเล็กๆอยู่อย่างสมถะ ใช้ชีวิตกลมกลืนกับป่า ปกป้อง ต้นไม้และสัตว์ ทุกตัวในป่าอย่างสุดจิตสุดใจ ความโปร่งของผืนป่า ทำให้ท่านสามารถเดินตรวจป่าได้ทุกวัน เพียงชั่วโมงเดียวท่านก็เดินได้รอบ ท่านพบเห็นสัตว์น้อยใหญ่มากมายและเป็นมิตรกับท่านไป หมด บางคราวในวันศีล กวางตัวเขื่องๆ วิ่งเตลิดผ่ากลางญาติโยมที่มาทำบุญเล่นเอาตกอกตกใจกันก็เคย
หลวงพ่อเล่าว่าในบริเวณวัดมีช้างโขลงเล็กๆอยู่ประมาณ 5 ตัว ช้างหักข้าวโพดของไร่ชายป่าข้างวัด หลวงพ่อต้องยอมฝืนสมณวิสัยลงไปช่วยชาวบ้านหักข้าวโพดอีกแรงหนึ่ง เหตุหนึ่งก็เพื่อให้ข้าวโพดของขาวบ้านเสียหายจากช้างและหมูป่าของวัดให้น้อยที่สุด อีกเหตุหนึ่งก็เป็นวิธีเดียวที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่จะบอกให้ชาวบ้านได้ล่วงรู้ถึงเจตนาของหลวงพ่อในการจะสงวนชีวิตในวัดด้วยหลวงพ่อ เล่าว่า “ช้างนี่ฉลาดเสียด้วย เก็บกินแต่ฝักใหญ่ๆงามๆ” แต่ที่จริงจะโทษช้างก็ไม่ได้ เพราะพื้นที่ในการหาอาหารของมันถูกไร่ข้าวโพดรุกคืบเข้าไปทุกที และ วันหนึ่งหลวงพ่อก็ไม่อาจฝืนความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีนายพรานมาซุ่มยิงช้างที่ชายไร่ริมป่านอกแนววัด หลวงพ่อจำเหตุการณ์ได้ละเอียด ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นตำนานเก่า ไปแล้ว

หลวงพ่อว่าวันนั้นช้างมากัน ๕ ตัว และมีเพียงตัวเดียวที่เดินพ้นแนวป่าปรากฏตัวให้เห็นก่อน เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ช้างตัวที่ใหญ่ ที่สุดใน โขลงซึ่งยังอ้อยอิ่งอยู่ในรุ่มเงาป่า ก็วิ่งถลันจากป่าเข้าใส่พรานทันที หลวงพ่อเข้าไปสำรวจร่องรอยในภายหลังพบว่า ต้นไม้ขนาดเสาเรือนที่ขวางทางหักไป ๓ ต้น โชคดีที่พรานยืนอยู่ข้างต้นบกใหญ่ อาศัยวิ่งวนรอบต้นบกจึงรอดตัวมา เมื่อช้างไม่พบพรานในรอบแรก ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนที่เจ็บจึงละจากพรานกลับไปประคองเพื่อนหนีเข้าป่าไป หลวงพ่อเล่าว่าช้าง สองตัวเดินหนีบ ช้างตัวที่บาดเจ็บ พาหิ้วเดินออกจากป่าของวัดพาข้ามห้วยข้ามเขาลึกเข้าไปในป่าใหญ่ทางตะวันตก หลวงพ่อได้ไปกับพวกพรานเดินตามรอยเลือดและ รอยเท้าช้าง ข้ามไปถึงเทือกเขากระแตไกลออกไป จนที่สุดก็ไม่พบเพราะไปสับสนกับรอยช้างตัวอื่น หลวงพ่อเองเชื่อว่าช้างนั้นมีสุสาน ท่านเองเคยไปพยเห็นกับตา บนดอยน้ำค้าง มีซากช้าง ๕ เชือกถูกปืนไปตายห่างๆกันไม่มีงาเหลืออยู่เลย หลวงพ่อเองเชื่อว่าช้างตัวอื่นคงเอาไปซ่อนท่านยังเก็บกระดูกท่อนขาของช้างมาชิ้นหนึ่งยาวสัก ๗๐ เซนติเมตร เอามาแกะสลักเป็นกรอบแว่นตาใช้เอง ยังเก็บอนุสรณ์ถึงทุกวันนี้และนี่คือ ประวัติศาสตร์ฉากสุดท้าย ของช้างในวัดป่าหลังเขาแห่งนี้
                                                                                        
                                                                                                                             กลับสู่ด้านบน
                      
เรื่องของเจ้ามดกับเจ้าหมิว

ตำนานวัดป่าอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะบันทึกไว้ก็คือ เรื่องของเจ้ามดกับเจ้าหมิว ลูกหมูป่าพี่น้องคู่หนึ่งที่อยู่กับหลวงพ่อเป็นเวลากว่าปีก่อนจะจากไป
ท่านได้มาจากนายพรานที่ ยิงแม่หมูป่าจะเอาเนื้อและได้ลูกหมูมาครอกหนึ่ง ท่านเอามาเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ไม่กักขังปล่อยให้หัดเที่ยวป่าหาอาหารเอง
อาหารที่ให้เพิ่มก็เป็นพืชผักพยายามเลี่ยงเนื้อสัตว์เพราะกลัวหมูจะไม่เชื่อง หลวงพ่อเลี้ยงจนลูกหมูจำชื่อตัวเองได้ ทุกครั้งที่หลวงพ่อออกบิณฑบาต
ท่านต้องเอาเจ้ามดกับเจ้าหมิวขังเข้าคอก เพราะมิฉะนั้นมันจะวิ่งตามตลอดทาง หลวงพ่อฟื้นความหลังให้ฟังว่า หมูป่าก็ยังเป็นหมูป่าแม้ท่านจะไม่ให้อาหารเนื้อแต่พอเดือน ๑๐ น้ำมากเจ้ามดกับเจ้าหมิวก็ช่วยกันต้อนฝูงลูกอ๊อดเข้า เขตน้ำตื้นชายตลิ่งแล้วดูดกินจนอิ่ม

อยู่มาวันหนึ่งเจ้าลูกหมูป่าตัวหนึ่งก็ไปกินเนื้อหอยสดกลับมาป่วยซึม เณรจึงไปซื้อยาหมูจากตลาดมาให้กิน ผลคือลูกหมูป่าที่ป่วยได้ตายไปเพราะฤทธิ์ยา อีกตัวที่เหลือเมื่อขาดเพื่อนจึงติดคนมากขึ้นโดยเฉพาะหลวงพ่อ ไม่นานหลังจากลูกหมูตัวแรกตายไปตำนานลูกหมูป่าก็จบลง ในวันที่หลวงพ่อรับนิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเพลที่บ้านท่ามะไฟหวาน ไกลไปจากวัดป่าราว ๒ กิโลเมตร ท่านสั่งเณรให้ช่วยอยู่เป็นเพื่อนเจ้าลูกหมูไม่ให้วิ่งตามท่าน ปรากฏว่าเณรปฏิบัติอยู่ไม่นานนักก็ลืมคำสั่งของหลวงพ่อ ลูกหมูป่าขาดเพื่อนจึงวิ่งตามกลิ่นหลวงพ่อไปตามถนนอย่างเร่งรีบ ด้วยความเคยอยู่ใกล้มนุษย์ ลูกหมูป่าจึงวิ่งฝ่าเข้าไปกลางกลุ่มสาว วัยรุ่นที่กำลังหาบลูกเดือยผ่านมาอย่างหน้าตาเฉย หญิงสาวกลุ่นนั้นเมื่อเห็นหมูเถื่อนตัวขนาดเหมาะมือเข้ามาหาดังนั้น จึงหยุดแล้วถอดไม้คานออกมารุมฟาดลูกหมูที่น่าสงสารเมื่อถูกคนหนึ่งตี แทนที่จะวิ่งหนีกลับวิ่งไปหาอีกคนหนึ่งหวังจะให้ช่วยปกป้อง กลับยิ่งถูกตีซ้ำและแล้วลูกหมูก็วิ่งวนเข้าหาไม้คานครั้งแล้วครั้งเล่าจนบอบช้ำตาย

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลวงพ่อเริ่มเห็นว่า ความใกล้ชิดระหว่างท่านกับสัตว์ป่าจะเป็นสาเหตุให้สัตว์ลดละสัญชาตญาณเดิมอันเคยระแวงมนุษย์ไป อันตรายจะเกิดกับสัตว์เหล่านี้เอง เมตตาธรรมจะเป็นพิษในโลกสมัยใหม่แล้วกระมัง เพราะหลวงพ่อเองคงตามปกป้องสัตว์ป่าทุกตัวได้ไม่ตลอดแน่ ยิ่งระยะหลังเริ่มมีการรุกรานสัตว์ป่าจากคนใจบาปปรากฏมากขึ้น ท่านจึงต้องฝืนใจเอาก้อนดินขว้างไล่เก้งกวางที่ชอบเดินตามท่านให้ตกใจเตลิดหนี
เพื่อคืนสัญชาติญาณดั้งเดิมของสัตว์ป่าเหล่านั้น

การแอบมายิงสัตว์ในเขตวัดมีหลายครั้งหลายหน ครั้งแรกสุดเท่าที่หลวงพ่อจำได้ก็ครูโรงเรียนใกล้ๆวัดมากับตำรวจมาไล่เนื้อที่วัด ท่านต้องออกไปห้าม จึงมีการตกลงชดใช้กันเป็นสังกะสี เขาบอกว่าไม่รู้ว่าเป็นเขตวัดทั้งๆที่ท่านทำป้ายบอกรอบวัด แต่ก็มักมีมือดีไปทุบทำลายเสมอๆ หลวงพ่อเล่าว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีสังกะสีจากพรานในเครื่องแบบมาชดใช้คืนให้วัดซักแผ่น มีอยู่คราวหนึ่ง หลวงพ่อต้องเผชิญหน้ากับนักเลงคนหนึ่งที่ไม่ยอมสนใจเขตวัด แอบมายิงเนื้ออยู่บ่อยครั้ง จนครั้งหนึ่งท่านได้ยิน เสียงปืนห่างไปไม่ไกลจึงวิ่งตามไปจับทั้งๆ ที่ท่านไม่มีอาวุธอะไร ผลคือนักเลงทิ้งเนื้อวิ่งหนี หลวงพ่อตามไปข้างหน้าแอบดักที่ทางผ่าน ครู่หนึ่งนักเลงคนนี้ผ่านมาพอดี โดยที่มองไม่เห็นหลวงพ่อซึ่งยืนบังเงาไม้อยู่ริมทาง นักเลงเอาปืนยิงไปที่หลังคาศาลาวัดเป็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์แห่งตน หลวงพ่อปรากฏตัวให้เห็นทันทีที่สิ้นเสียงปืน นักเลงซึ่งมีอาวุธอยู่ในมือกลับเป็นฝ่ายวิ่งหนีเป็นครั้งที่สอง คราวนี้หลวงพ่อไปรอที่บ้านเพื่อเจรจาให้รู้เรื่อง ผลคือนักเลงคนนี้หนีลงเขาไปอยู่บ้านเดิมไม่ขึ้นบนหลังเขาอีกเลยเป็นเวลาหลายปี

                                                                                                                               กลับสู่ด้านบน

                                                                                      

เมื่อวัดป่าถูกย่ำยี

ปี ๒๕๑๔ ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดได้มาเยือนวัดป่าของหลวงพ่อ เมื่อพนักงานตีตราไม้ของบริษัทสัมปทานป่าไม้จากตัวจังหวัดมาตีตราป่านอกเขตวัด รุกเข้ามาเกือบถึงกุฏิท่าน หลวงพ่อได้ออกไปอธิบายและขอร้องแต่กลับไม่ได้ผล ด้วยข้ออ้างเพียงว่าสายไปแล้ว เพราะได้ตีตราไปแล้ว แก้ไขไม่ได้พร้อมกับแสดงหลักฐานเอกสารอันถูกต้องตามกฎหมาย ถึงสัมปทานบัตรอันทับบนที่อารามสงฆ์ โลภจริตของคนเมืองยุคนี้ เกินกำลังที่หลวงพ่อจะแจงเบี้ยอธิบายหลักธรรมต่างๆของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว
ดูแล้งถัดมา วัดป่าก็ถูกย่ำยีอย่างถูกกฎหมายจากพ่อค้าไม้เพียง ๓ วันเท่านั้น ต้นไม้ที่ถูกตีตราก็ถูกโค่นจนหมดป่าหลวงพ่อเล่าอย่างรันทดต่อไปว่า ต้นไม้ใหญ่ๆต้นหนึ่ง อายุร่วมร้อยปี เพียงนับ ๑ ไม่ทันถึง ๑๐ ก็โค่นลงด้วยเลื่อยเครื่องจักรคืนแรกๆ หลวงพ่อเดินกลับกุฏิไม่ได้เลย เพราะหนทางถูกซุงทับปิดหมด ต้องปีนป่ายข้ามไปทีละต้นทีละต้นอย่างทุลักทุเลกว่าจะถึงกุฏิ สัตว์ป่าน้อยใหญ่ต้องหลบลี้หนีภัยไปจากวัดอันร่มรื่นซึ่งครั้งหนึ่งเป็นดินแดนอันปลอดภัยที่สุด วัดได้กลายเป็นสมบัติของพ่อค้านานนับปี เครื่องจักรฉุดลากไม้ถูกติดตั้งขึ้นกลางวัด ความวอดวายไม่ได้เกิดแต่เฉพาะไม้ที่ถูกตีตราเท่านั้น ไม้เล็กและไม้ขนาดกลางที่รอดจากการถูกตีตรา กลับต้องมาวอดวายกับรถแรงเยอร์ที่ฉุดลากไม้อย่างไร้ความปราณี ไม่มีอะไรที่ขวางทางเครื่องจักร นอกจากซากแห่งความตายที่ถูกบดขยี้ลงต้นแล้วต้นเล่าซุงบางต้นทับซ้อนกันอยู่ยังหักกลาง เพราะแรงฉุดงัดของเครื่องจักรความเสียหายครั้งนี้นับเป็นฝันอันรุนแรงที่สุดของหลวงพ่อเลยทีเดียว หลวงพ่อทนดูอยู่ไม่นานท่านก็ออกธุดงค์อีกครั้งหนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงของป่าบนภูโค้งที่ถูกโค่นทำลายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ท่านต้องพบกับการธุดงค์กลางเปลวแดดกว่าจะถึงเขตป่าที่เหลืออยู่ ก็ต้องเดินลึกเข้าไปถึงภูหลง และที่ภูหลงชาวบ้านที่นั้นได้ยกผืนป่าชั้น ๑ เนื้อที่นับพันไร่ ถวายให้ท่านตั้งอารามอีกแห่งหนึ่งและป่าที่ภูหลงยังคงสภาพสมบูรณ์ถึงปัจจุบันเพราะ ชาวบ้านที่ภูหลงยังช่วยกันดูแลอารามแห่งนี้ไว้นานๆ จึงจะมีพระจากวัดป่าสุคะโตไปแวะสักครั้ง

ย้อนกลับมายังวัดป่าสุคะโต ไม้ซุงได้ถูกชักลากมาสุมรวมกันอยู่บนลาน (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ของศาลาไก่) วัดป่าไม่เหลือสภาพของวัดป่าต่อไปอีกแล้ว ไม่มีอะไรเหมือนเก่า ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือ กลางคืน ความร้อนของแสง ลมพายุ ฝุ่นควัน เสียงลมต้องใบไม้ ความชุ่มชื้นของผิวดินเสียงนกกาและสรรพสัตว์ แม้แต่สายน้ำยังเปลี่ยนสี หลวงพ่อเล่าว่าถ้าเป็นคนโบราณ เวลาเขาทำไม้เขาจะเลือกเอาเฉพาะต้นขนาดใช้งานเท่านั้น และต้องแน่ใจว่าจะไม่ใหญ่เกินกำลังช้างจะชักลาก ต้องแน่ใจว่าเส้นทางชักลากจะเป็นจริงได้ไม่มีอุปสรรค แต่เครื่องจักรไม่เคยมีการเลือก ยิ่งไม้ใหญ่น้อยที่ยืนต้นอยู่ชายตลิ่งริมฝั่งน้ำนั้น คนโบราณไม่เคยแตะต้องเลย เพราะรู้ว่ากินกำลังช้างจะดึงขึ้นจากตลิ่งสูง อีกสาเหตุหนึ่งก็คือความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษา สายน้ำยังมีอยู่ การทำลายน้ำให้ขุ่นข้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม และนี่เป็นสาเหตุให้รักษาไม้ริมน้ำคู่ กับตลิ่งไว้ตลอดมา นับร้อยนับพันปี

แต่เครื่องจักรอีกนั่นแหละ ไม้ริมฝั่งลำปะทาวไม่มีความหมายอะไร นอกจากถูกตีค่าเป็นเงินและทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้หลังเหตุการณ์โค่นป่าอย่างถูกกฎหมายในครั้งนั้น ลำปะทาวก็เปลี่ยนสีเมื่อไม่มีป่าต้นน้ำเหลือซับน้ำได้ ฤดูแล้งลำปะทาวก็เหือดแห้ง ฤดูน้ำ น้ำก็กัด เซาะตลิ่งพังทลายลง ลำน้ำที่เคยลึกและงดงามกลับตื้นเขิน เต็มไปด้วยดินทรายที่ถูกฝนซะลงจาก ผืนดินเบื้องบน ทุกวันนี้ลำปะทาวก็เป็นเพียงทางระบายน้ำ สายหนึ่งในฤดูน้ำ ส่วนในฤดูแล้งสายน้ำก็แปรสภาพเป็นเพียงแอ่งน้ำเป็นหย่อมๆที่หยุดนิ่งและรอเวลาแห้งเหือด ชะตากรรมนี้ได้ลุกลามไปถึงลำน้ำชี ซึ่งไม่ค่อยจะเต็มใจไหลในฤดูแล้งเสียแล้ว เมื่อลำปะทาวอันสมบูรณ์เปลี่ยนสี สิ่งหนึ่งที่กระทบถึง ชาวบ้านอย่างรุนแรงก็คือปลา ซึ่งเคยมีอุดมสมบูรณ์ ์ก็ค่อยๆหมดไป กระทบต่อความเป็นอยู่ ของชาวบ้านมากทีเดียว ทุกวันนี้ ในวัดป่าสุคะโตได้ทำฝายเล็กๆ กักเก็บน้ำไว้อยู่บึงหนึ่ง และหลวงพ่อกล้าพูดได้เต็มปากว่า ปลาทุกตัวที่ชาวบ้านบนหลังเขาจับกินจากสายน้ำลำปะทาวนั้น ทั้งหมดมาจากต้นกำเนิดในบึงวัดป่าสุคะโตทั้งสิ้น

หลวงพ่อบุญธรรมได้พักอยู่ที่ภูกาหลงระยะหนึ่ง พอเครื่องจักซักลากไม้ถอนตัวออกไป หลวงพ่อบุญธรรมก็กลับมาอยู่วัดป่าสุคะโตอีกครั้งหนึ่งคราวนี้มีหลวงพ่อคำเขียนมาอยู่ด้วย และหลวงพ่อทั้งสองได้เริ่มปรับปรุงวัดป่า ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของฆราวาสจากแดนไกล ที่มีจิตอันมุ่งมั่นมาหาความวิเวก เพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านในของชีวิต หลวงพ่อบุญธรรมเล่าว่า ไม้ที่เหลืออยู่ในทุกวันนี้เป็น “เดนป่า” ที่บริษัทสัมปทานไม้เหลือทิ้งไว้ ซุงกองมหึมายังกองสุมอยู่นานนับปีกว่ารถจะขนลงเขาไปหมด ไม้เล็กไม้น้อยได้ค่อยๆยืดตัวแตกกิ่งก้านหนาขึ้น สภาพวัดป่ากค่อยๆฟื้นกลับคืนมา แต่ก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว หลวงพ่อคงได้แต่็บ่นเสียดาย ภาพของวัดป่าอันร่มครึ้มในอดีต คงเป็นเพียงความทรงจำถึงวัดป่าในสมัยแรกเริ่ม

แม้ว่าหนทางที่ป่าจะคืนสภาพสมบูรณ์เช่นเก่าก่อนยังมีอยู่ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานและหลวงพ่อคงอยู่ไม่ทันได้ชื่นชมอีกเป็นแน่ ในระยะหลังได้เกิดเหตุการณ์รุกรานป่าอีก ทั้งนี้เพราะเมื่อป่าหมดไป ไม้กลายเป็นสิ่งหายาก วิธีง่ายที่สุดก็คือตัดใน “เดนป่า” ของวัดป่าสุคะโต เมื่อสมเด็จย่าเสด็จเยี่ยมพสกนิกรบนหลังเขาเมื่อปี ๒๕๑๙ ครูใหญ่จากโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวานมาขอตัดไม้สวยๆในวัดไปทำซุ้มเห็ดรับเสด็จ หลวงพ่อเห็นว่าเป็นเหตุอันควรจึงอนุญาตและท่านก็มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางลงเขาไม่ได้อยู่ดูแลวัด ครั้นกลับขึ้นมาหลังเขา พบว่าในวัดมีตอไม้เพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยตอ หลวงพ่อก็ทำได้เพียงมีจดหมายไปต่อว่าครู
    
                                                                                     
                                                                                                                              กลับสู่ด้านบน


ภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์

พ้นไปจากอาณาเขตของวัด ต้นไม้แทบจะไม่มีเหลือติดพื้น นโยบายเร่งรัดผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออกของรัฐบาลกลาง เป็นเหตุให้ชาวนาจากที่รายข้างล่างอพยพขึ้นมาเปลี่ยนอาชีพเป็นชาวไร่ และเพราะปลูกพืชทั้งหมดเพื่อขาย โดยที่ปัจจัย ๔ ที่ใช้ยังชีพทั้งหมดต้องซื้อด้วยเงิน เมื่อความจำเป็นในการใช้เงินของชาวบ้านมีแต่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินมีแต่จะจืดลง ผลผลิตต่อเนื้อที่จึงลดลง ซ้ำร้ายราคาของพืชเศรษฐกิจทุกชนิดที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูก ได้เรียงแถวราคาตกต่ำลงทุกปีๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด
หรือมันสำปะหลังทางออกของชาวไร่ก็คือต้องขยายพื้นที่ในการเพราะปลูก เพื่อให้สมดุลกับรายจ่ายที่ต้องซื้อหาปัจจัยยังชีพ จนในที่สุดป่าบนหลังเขาก็เหลือน้อยเต็มที

นอกจากวัดป่าสุคะโตแล้ว ก็ยังเหลือภูหลงที่ชาวบ้านบริจาคป่ายกให้หลวงพ่อบุญธรรมอีกแห่งหนึ่ง แต่ว่าโดยสัดส่วนแล้ว ป่าที่เหลือเป็นเพียงรอยแต้มสีน้อยๆ บนผืนดินเปลือยเปล่าของหลังเขานับแสนไร่ และป่าที่เหลือนี้น้อยเกินกว่าที่จะก่อผลให้เกิดสมดุลทางนิเวศวิทยาเหมือนครั้งก่อนได้อีกแล้ว

และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นับพันปีของที่ราบสูงแห่งนี้ก็เกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อเกิดฝนตกรุนแรงติดต่อกันระยะหนึ่ง น้ำที่ไม่มีป่าไม้คอยดูดซับไว้ก็ไหลบ่าทะลักลงมารวมกันอย่างรวดเร็ว และฝายน้ำล้นแห่งหนึ่งซึ่งก่อสร้างจากโครงการเงินผันสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ก็พังลง หลวงพ่อเล่าว่า ก่อนหน้าที่ฝายเงินผันแห่งนี้จะพังลงคืนนึ่ง มีคนมารายงานท่านว่า รอยทางคนเดินซึ่งเชื่อมต่อระหว่างผืนดินกับตัวฝาย ซึ่งเดิมต่อกันเป็นแนวเดียวได้เริ่มเบี่ยงเบนขยับออกจากแนวเดิมไม่ต่อกันเสียแล้ว วันรุ่งขึ้นฝายก็ขยับถอนยวงหลุดไปจากผืนดินรูดออกไปทั้งก้อน หลวงพ่อต้องเอาเครื่องขยายเสียงออกมาประกาศเรียกระดมแรงงานชาวบ้านมาช่วย ๓ พ่อลูก ที่ติดอยู่กลางเกาะในลำปะทาว "อยู่บนหลังเขาไม่มีเจ้านายมาช่วยดอกต้องตะเกียกตะกายเอาเอง" แม้ว่าจะช่วยชีวิต ๓ พ่อลูกที่ติดอยู่บนเกาะกลางขึ้นมาได้สำเร็จ แต่มีครอบครัวหนึ่งต้องจบชีวิตพร้อมกัน ๓ คน เพราะไปสร้างบ้านขวางทางน้ำจากฝายที่พังลงมา หลวงพ่อเล่าว่าที่จริงไม่น่าพังเลย บ้านเสาตั้ง ๙ ต้น ยกพื้นสูงพ้นน้ำ ห่างจากฝายตั้ง ๒ กิโลเมตร แต่โชคร้ายที่ไปต่อใต้ถุนเป็นยุ้งใส่ข้าวโพดเสียเต็ม ขวางทางน้ำเลยไม่มีเหลือ เสาบ้านหักไปทันที ๘ ต้น ถอนรากไปอีกต้นหนึ่ง หลวงพ่อเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าแทบไม่น่าเชื่อ สีขาวของพื้นน้ำกับสีขาวของท้องฟ้าที่อิ่มน้ำต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ทั้งๆที่อยู่ที่ราบบนยอดของเทือกเขาสูง

พิบัติภัยครั้งนี้ ไม่ใช้เหตุการณ์บังเอิญทางธรรมชาติเสียแล้ว แต่เป็นการปรับสมดุลใหม่ของธรรมชาติภายใต้ระบบนิเวศวิทยาที่แปรเปลี่ยนไป หลวงพ่อได้อธิบายปรากฏการณ์ใหม่ของฝนฟ้าบนภูโค้งว่า ฝนที่เคยตกเฉลี่ยกันตลอดปี เพราะมีป่าไม้คอยดูดซับเมฆฝนให้ลอยตัวลงต่ำแล้วกลั่นตัว เมื่อป่าหมดไปผืนดินจึงรับแดดจนร้อนระอุ พอไม่มีความเย็นเบื่องล่างเมฆก็ลอยตัวสูงขึ้น เมื่อท้องฟ้าเก็บเมฆไว้มากๆวันดีคืนดีเก็บไม่อยู่ก็เทพรวดลงมาที่เดียวหมดฟ้า เท่าๆกับปริมาณฝนที่เคยตกเฉลี่ยในระยะหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปี ตกกระหน่ำลงมาทีเดียวในเวลาข้ามวันนี้เป็นความสมดุลใหม่ที่มนุษย์เลือกอย่างไม่เท่าทัน

ชีวิตของชาวบ้านบนหลังเขาจะต้องเดือดร้อนยิ่งๆขึ้นทุกปี ในเมื่อไม่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าอย่างเช่นในอดีตแล้วไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยที่เกิดจากใบไม้ร่วงทับถมกัน ซึ่งก็คือขบวนการทางธรรมชาติ ที่ช่วยย่อยและดึงแร่ธาตุจากดินลึกผ่านรากสู่ใบและร่วงสู่ดิน ย่อยสลายกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ของชั้นหน้าดิน ไม่มีป่าไม้อันเป็นปัจจัยช่วยโยงใยและสร้างสมดุลระหว่างน้ำใต้ดินน้ำบนผิวดิน ตลอดจนได้น้ำในระดับเมฆฝน และนี้คือสาเหตุแห่งความแห้งแล้งอันร้อนระอุและยาวนาน และน้ำป่าอันรุนแรงแห่งฤดูฝน หน้าดินเริ่มสึกกร่อนเพราะไม่มีต้นไม้ให้ยึดเกาะ และคอยปกป้องจากลมฝนและพายุ ซ้ำร้ายเกษตรกรรมอันไร้สติตามนโยบายเร่งรัดการส่งออกของรัฐบาลยังคงคืบหน้า ดูดซับความอุดมสมบูรณ์สุดท้ายของป่าที่เหลือน้อยอยู่แล้วให้เหือดแห้งเข้าไปอีก ปีแล้วปีเล่า ดูเหมือนสภาพทะเลทรายของป่าหลังเขาจะปรากฎภาพให้เห็นชัดยิ่งขึ้นทุกปี รัฐเองก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน จะเห็นได้จากการที่กรมป่าไม้ขึ้นไปจัดตั้งหมู่บ้านสวนป่า แต่ดูเหมือนความคิดอ่านในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมขาติ ไม่ได้ซึมลึกเข้าไปในสามัญสำนึกของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านสวนป่าแห่งนี้เท่าไรนัก หลวงพ่อเล่าว่า เท่าที่รู้ชาวบ้านมีกรรมวิธีทำให้ต้นไม้ที่ตนเองรับผิดชอบปลูกขึ้นบนเนื้อที่ของตนโตช้า หรือไม่โตเอาเลยทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้นไม้มารบกวนพืชไร่ที่รัฐบาลให้ปลูกคู่กันไปรอให้ไม้หลักโต ในขณะที่พันธุ์ไม้ที่ใช้ปลูกป่าก็เป็นไม้โตเร็ว ว่าให้ชัดที่สุดก็คือ ปลูกเพื่อใช้ตัดขายมากกว่าความตั้งใจจะฟื้นฟูธรรมขาติอย่างจริงจัง คงไม่เกินเลยนักที่จะพูดอย่างเต็มที่ว่ามีเพียงวัดและหลวงพ่อเท่านั้น ที่พยายามรักษาธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ เพื่อความสมดุลแห่งระบบนิเวศวิทยา เพื่ออนาคตของอนุชนและเพื่อการดำรงอยู่แห่งธรรม วัดป่าสุคะโตคงจะเป็นจุดเล็กๆ จุดเดียวบนแผนที่แห่งผืนดินบนหลังเขาอันกว้างใหญ่ ที่พยายามสร้างสมดุลใหม่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายนอก และสมดุลภายในจิตใจของมนุษย์เอง แต่นี่ก็เป็นความหวัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูธรรมและธรรมชาติ ควบคู่กันไป

                                                                                
                                                                                                                              กลับสู่ด้านบน