การปฎิบัติเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
|
บทนำ
ธรรมะที่ผมว่าอยู่นี้ ไม่ใช่ของใครทั้งหมด เป็นสากล เป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่เป็นของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นของศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ของคนไทย ไม่ใช่ของคนฝรั่ง ไม่ใช่ของคนอังกฤษ ไม่ใช่ของคนอเมริกา ไม่ใช่ของคนญี่ปุ่น ไต้หวันทั้งนั้น เป็นของผู้รู้
ใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ใครไม่รู้ไม่เป็นของคนนั้น ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรก็ตาม มันมีในคนทุกคน ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว จะสงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้คนอื่นทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น รู้แล้วทำลายก็ไม่ได้ เพราะมันทำลายไม่ได้ มันไม่มีอะไรจะไปทำลายมันได้ แล้วจะไม่ให้คนอื่นรู้ มันก็ไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่ทำรู้เอง เรารู้แล้ว จะทำลายมัน ทำลายไม่ได้เพราะมันเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา
คนโบราณบ้านหลวงพ่อเคยสอนเอาไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ” ใจมันอยู่ที่ไหน? เราเคยเห็นใจเราบ้างไหม? ไม่เคยเห็น เมื่อไม่เคยเห็น เราก็ต้องศึกษาปฏิบัติให้รู้ว่า ใจเราคืออะไร?
นรก คือ ความร้อนอกร้อนใจ มีทุกข์แล้วในขณะไหนเวลาใด ความทุกข์อันนั้นมันจางคลายไป เราก็ขึ้นสวรรค์ โกรธมาเที่ยวหน้า ตกนรกอีกแล้ว แน่ะ ...
บัดนี้เราอยู่เพียงแต่สวรรค์ ไม่ไปตกนรก แต่ว่าไม่รู้จักทิศทางออก ทำอยู่กับโลกียธรรม... เมื่อเราหาทางออกจากโลกียธรรมไม่ได้ เราก็หมุนเวียนอยู่ในโลกียธรรมดีกับโลกเป็นวิสัยของสัตว์ เป็นวิสัยของสัตว์โลก เป็นวิสัยของสัตว์ ยังไม่เป็นวิสัยของมนุษย์ ยังไม่เป็นวิสัยของพระอริยบุคคล ให้เข้าใจอย่างนั้น เมื่อเราพ้นทุกข์ได้แล้ว นั่นแหละเป็นวิสัยของโลกุตรธรรม
อัน(ที่)เป็นพระพุทธเจ้า คือ จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใส จิตใจว่องไว นั่นแหละคือ จิตใจ
ของพระพุทธเจ้า ก็มีในคนทุกคนไม่มียกเว้นเลย
น้ำกับตมเลนนั้น มันไม่ใช่อันเดียวกัน ตมเลนต่างหาก(ที่)ทำให้น้ำขุ่น (แต่) น้ำมันไม่ได้ขุ่น จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักอย่างนั้นแล้ว เราจะค่อยๆตามไป พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อันจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ขี้ตม ฝุ่น ไม่สามารถทำให้น้ำขุ่นได้อีก จิตใจเราก็ผ่องใส ขี้ตมก็จะเป็นตะกอนทะลุออกก้นโน้น จิตใจว่องไว มันก็เบา สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง
โลกียธรรมกับโลกุตรธรรมจึงอยู่ด้วยกัน ถ้าเรารู้โลกุตรธรรมจริงๆแล้วก็แยกกันได้หรือออกจากกันได้(แต่) ถ้าเรายังไม่รู้จริงๆจะแยกกันไม่ได้
ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นั่นน่ะ ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า คือ ตัวที่มันจิตใจเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้แหละ
ในขณะนี้ ที่นั่งฟังหลวงพ่อพูดอยู่ในขณะนี้นี่ ลักษณะชีวิตจิตใจ ของท่านเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละ ในขณะนี้ ที่นั่ง
ฟังหลวงพ่อพูดอยู่ในขณะนี้นี่ ลักษณะชีวิตจิตใจของท่านเป็นอย่างไร?
มันก็เฉยๆ เฉยๆ เรามีสติรู้ไหม? ถ้าเรามีสติรู้ลักษณะเฉยๆนี่ อันนี้แหละที่ท่านว่า ความสงบ ทำงาน พูด คิดอะไรก็ได้ แต่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรให้มันมาก
ลักษณะ(นี้)สอนกันนิดเดียวเท่านั้นแต่คนไม่เข้าใจ... ไปทำของง่ายๆให้มันยาก ทำของสะดวกสบายให้มันยุ่งขึ้นมา ลักษณะเฉยๆนี่ ไม่ต้องไปทำอะไรมันเลย ลักษณะเฉยๆนี่ มันมีในคนทุกคนเลย แต่เราไม่เคยมาดูที่ตรงนี้...
ลักษณะเฉยๆนี้ ท่าน(เรียก)ว่า อุเบกขา วางเฉย
ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นความคิดนั่นแหละ ตัวความคิดจริงๆนั้น มันก็ไม่ได้มีความทุกข์ ที่มันมีทุกข์เกิดขึ้น คือเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป เมื่อมันเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป มันก็นำความทุกข์มาให้เรา
ความจริงความโกรธ – ความโลภ – ความหลงนั้น มันไม่มี ตอนมันมีนั้นคือเราไม่ได้ดู “ต้นตอของชีวิตจิตใจ”นี้เอง มันก็เลยโผล่ออกมา
บัดนี้มาทำความรู้สึกตัว มันคิด... เห็น รู้ เข้าใจ ตัวนี้เป็นตัวสติ เป็นตัวสมาธิ เป็นตัวปัญญา เราเรียกว่า “ความรู้สึกตัว” (เมื่อ) เรารู้สึกตัวแล้ว ความคิดจะไม่ถูกปรุงแต่งไป ถ้าเราไม่เห็นความคิดแล้ว มันจะปรุงแต่งเรื่อยไปเลย
อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างลัดๆ อึดใจเดียวก็ได้
|
|
ภาค ๑ การทำความรู้สึกตัว
สติ หมายถึง ความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกชาติแล้วชาติก่อนนะ ระลึกได้เพราะการเคลื่อน การไหว การนึก การคิดนี่เอง จึงว่า สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
บัดนี้เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เพราะคนไทยไม่ได้(พูด) ว่า สติ
“ให้รู้สึกตัว” นี่ หลวงพ่อพูดอย่างนี้ให้รู้สึกตัว การเคลื่อน การไหว กะพริบตาก็รู้หายใจก็รู้ นี่ จิตใจมันนึกคิดก็รู้ อันนี้เรียกว่า ให้มีสติก็ได้ หรือว่า ให้รู้สึกตัวก็ได้
ความรู้สึกตัวนั้น จึงมีคุณค่ามากเอาเงินซื้อไม่ได้ ให้คนอื่นรู้แทนเราไม่ได้ เช่น หลวงพ่อกำ (มือ) อยู่นี่ คนอื่นมองเห็นว่าความรู้สึก (ของ) หลวงพ่อเป็นอย่างไร? รู้ไหม? ไม่รู้เลย แต่คนอื่นมองเห็นว่าหลวงพ่อกำมือแต่ความรู้สึก (ที่) มือหลวงพ่อสัมผัสกันเข้านี่คนอื่นไม่รู้ด้วย คนอื่นทำ หลวงพ่อก็เห็นแต่หลวงพ่อรู้นำ (ด้วย)
ไม่ได้
นี่แหละใบไม้กำมือเดียว คือ ให้รู้การเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก และให้รู้การเคลื่อนไหวของจิตใจมันนึกคิด
|
|
ภาค ๒ การสร้างจังหวะ
การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำตัวเราไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้ ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว...
|
เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง ............................................................คว่ำไว้
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ......................................................ทำช้าๆ.......ให้รู้สึก
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว ..............................................ให้รู้สึก ......มันหยุดก็ให้รู้สึก
เอามือขวามาที่สะดือ........................................................................ให้รู้สึก
พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น...................................................................... ให้รู้สึก
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ....................................................................... ให้รู้สึก
เอามือซ้ายมาที่สะดือ....................................................................... ให้รู้สึก
เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก..................................................................... ให้รู้สึก
เอามือขวาออกตรงข้าง..................................................................... ให้รู้สึก
ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้.......................................................... ให้รู้สึก
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา.......................................................................ให้รู้สึก
เลื่อนมือซ้ายมาที่หน้าอก.....................................................................ให้รู้สึก
เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง...................................................................ให้รู้สึก
ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...........................................................ให้รู้สึก
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย.......................................................................ให้รู้สึก
ทำต่อไปเรื่อยๆ.....................................................................ให้มีความรู้สึกตัว
|
ภาพสาธิตการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
|
มีสติกำหนดรู้ ดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด
|
|
|
การเดินจงกรม
เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ) เปลี่ยนอิริยาบถ คือ นั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้ เดินหลาย(เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่าเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆกัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบาง อิริยาบทั้ง ๔ ให้เท่ากัน แบ่งเท่ากันหรือไม่เท่ากัน ก็ได้เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อย มาก อะไรก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้ เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่งแขน เอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้ เดินไปไดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามาทำความรู้สึกตัว แต่ไม่ต้องพูดว่า “ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ” ไม่ต้องพูด เพียงแต่เอาความรู้สึกเท่านั้น เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี เดินไปก็ให้รู้... นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่เดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มที่แล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น เดินก้าวไป ก้าวมา “รู้” นี่ (เรียก) ว่าเดินจงกรม
|
|
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งก็ทำได้ ขึ้นรถลงเรือก็ทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์นั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น – คว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น – คว่ำลง เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือ – เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
ไปไหนมาไหน ทำเล่นๆไป ทำเพื่อความสนุก นี่อย่างหนึ่ง ทำมือเดียว อย่าทำพร้อมกันสองมือสามมือทำมือขวา มือซ้ายไม่ต้องทำ ทำมือซ้าย มือขวาไม่ต้องทำ
“ไม่มีเวลาที่จะทำ” บางคนว่าอย่างนั้น
“ทำไม่ได้ มีกิเลส” เข้าใจอย่างนั้น
อันนี้ถ้าเราตั้งใจแล้ว ต้องมีเวลา มีเวลาเพราะเราหายใจได้ เราทำการทำงานอะไรให้มีความรู้สึกตัว เช่นเราเป็นครูสอนหนังสือ เวลาเราจับดินสอ เอามาเขียนหนังสือ... เรามีความรู้สึกตัว กลืนข้าวเข้าไปในท้อง ไปในลำคอ ... เรามีความรู้สึกตัว อันนี้เป็นการเจริญสติ
ทำให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่
ที่อาตมาพูดนี้ อาตมารับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า และรับรองวิธีที่อาตมาพูดนี้ รับรองจริงๆ ถ้าพวกท่านทำจริงๆแล้ว ทำให้มันติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ หรือเหมือนนาฬิกาที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา
แต่ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ ให้มันเหมือนลูกโซ่ หมุนอยู่เหมือนกับนาฬิกานี่ ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด ให้ทำความรู้สึก ทำจังหวะเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น
คำว่า “ให้ทำอยู่ตลอดเวลา” นั้น (คือ) เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมไว้ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรืออะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิดทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดีน้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึก ยกเท้าไป ยกเท้ามา ยกมือไป ยกมือมา เรานอนกำมือ เหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั้น หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อตื่นนอนขึ้นมา เราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ
|
|
สรุปวิธีปฏิบัติ
ถ้าทำจังหวะให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ มีความรู้สึกอยู่ทุกขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อน ไหว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น
แต่เรามาทำเป็นจังหวะ พลิกมือขึ้น คว่ำมือลง ยกมือไป เอามือมา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา กระพริบตา อ้าปาก หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่ทุกขณะ
อันนี้แหละวิธีปฏิบัติ คือให้รู้ตัว ไม้ให้นั่งนิ่งๆ ไม่ให้นั่งสงบ คือให้มันรู้ รับรองว่าถ้าทำจริง ในระยะ ๓ ปี อย่างนาน ทำให้ติดต่อกันจริงๆนะ อย่างกลาง ๑ ปี อย่างเร็วที่สุด นับตั้งแต่ ๑ ถึง ๙๐ วัน อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงเลย ความทุกข์จะลดน้อยไปจริงๆ ทุกข์จะไม่มารบกวนเรา
|
|
|