วัดป่ามหาวัน

วัดป่ามหาวัน(ภูหลง) ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๖ บ้านตาดรินทอง ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ บนเทือกเขาภูแลนคา สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๕ เมตร ห่างจากวัดป่าสุคะโตประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ในอดีตเทือกเขาภูแลนคาเป็นเทือกเขาที่มีความหลากหลายของทรัพยากร ทางธรรมชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูหยวกและ ป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ หลังจากการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ระหว่างปี พ.ศ.
๒๕๑๔-๒๕๑๖ ชาวบ้านก็เริ่มบุกเบิกเข้าไปจับจองพื้นที่ทำกิน
 

วัดป่ามหาวันเกิดขึ้นจากการริเริ่มหลวงพ่อบุญธรรมและหลวงพ่อคำเขียนจากวัดป่าสุคะโต ได้ขอบิณฑบาตพื้นที่บางส่วนที่ชาวบ้านเข้าบุกเบิกทำพื้นที่ทำกินบริเวณรอบป่าภูหลง ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านตาดรินทอง พร้อมทั้งชักชวนให้ชาวบ้านร่วมกันปักแนวเขตวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูหลงที่เป็นป่าต้นน้ำลำปะทาวเอาไว้

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ พระไพศาล วิสาโลได้ไปประจำอยู่ที่ภูหลง การร่วมกันดูแลปกป้องผืนป่าภูหลงระหว่างพระและชาวบ้านจึงได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เข้มแข็งและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำมาสู่การดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างมากมายภายในชุมชนจนกระทั่งปัจจุบัน อาทิเช่น การวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูหลง บวชป่า ปลูกป่า ทำแนวกันไฟ ชิงเผา จัดชุดลาดตระเวน การเฝ้าระวังไฟป่า การเพาะกล้าไม้ การทำผ้าป่ากล้วยและไม้ไผ่เพื่อปลูกเป็นแนวกันไฟ การทำแปลงปลูกของเยาวชน ปลูกป่าวันวิสาขบูชา  และร่วมกับโรงเรียนเพาะกล้าไม้ คืนให้ป่า
ภูหลง เป็นต้น

ปัจจุบันวัดป่ามหาวันเป็นวัดในโครงการพัฒนาป่าไม้ร่วมกับพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ มีเนื้อที่ของโครงการประมาณ 2807 ไร่ สภาพเป็นป่าสมบูรณ์บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ที่เหลือเป็นสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยทางวัดป่ามหาวันและกรมป่าไม้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกขน ในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ


วัดภูเขาทอง

วัดภูเขาทองตั้งอยู่ที่หมู่บ้านท่ามะไฟหวาน ตำบลแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิห่าง จากวัดป่าสุคะโตประมาณ ๓ กิโลเมตร เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อชาวบ้านทราบว่าหลวงพ่อคำเขียน จะมาประจำอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกุดโง้ง (วัดป่าสุคะโตในปัจจุบัน) จึงได้นิมนต์ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของวัดประจำหมู่บ้าน ท่านจึงรับเป็นเจ้าอาวาส ดำริว่าจะไปประจำที่วัดภูเขาทอง ๑-๒ ปี
 

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง หลวงพ่อคำเขียนกับความเปลี่ยนแปลงที่บ้านท่ามะไฟ-หวาน (หว่านพันธุ์แห่งโพธิ) ไว้ว่า

            “บ้านท่ามะไฟหวานในยุคนั้น คำว่า “บ้านป่าเมืองเถื่อน”             อาจให้ความรู้สึกธรรมดาเมื่อ
            เทียบกับสมญานามที่ชาวบ้านบางคนตั้งให้แก่บ้านท่ามะไฟหวานว่า“ดงเลือด”......................
            ........................................................................................................................
            ....................................................................... หลวงพ่อคำเขียนสามารถเปลี่ยนแปลง
            หมู่บ้านนั้นให้มาเป็นชุมชนที่สงบเรียบร้อย ผิดกับอดีตเมื่อทศวรรษที่แล้ว อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆที่
            ท่านมีโอกาสทำงาน จริงจังที่นั่นเพียงไม่กี่ปี ท่านได้เปลี่ยนแปลงท่ามะไฟหวานเป็นอันมาก”
           
                                                                                      อ่าน “หว่านพันธุ์แห่งโพธิ” ฉบับเต็ม