เมื่อวัดป่าถูกย่ำยี

ปี ๒๕๑๔ ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดได้มาเยือนวัดป่าของหลวงพ่อ เมื่อพนักงานตีตราไม้ของบริษัทสัมปทานป่าไม้จากตัวจังหวัดมาตีตราป่านอกเขตวัด รุกเข้ามาเกือบถึงกุฏิท่าน หลวงพ่อได้ออกไปอธิบายและขอร้องแต่กลับไม่ได้ผล ด้วยข้ออ้างเพียงว่าสายไปแล้ว เพราะได้ตีตราไปแล้ว แก้ไขไม่ได้พร้อมกับแสดงหลักฐานเอกสารอันถูกต้องตามกฎหมาย ถึงสัมปทานบัตรอันทับบนที่อารามสงฆ์ โลภจริตของคนเมืองยุคนี้ เกินกำลังที่หลวงพ่อจะแจงเบี้ยอธิบายหลักธรรมต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว

ฤดูแล้งถัดมา วัดป่าก็ถูกย่ำยีอย่างถูกกฎหมายจากพ่อค้าไม้เพียง ๓ วันเท่านั้น ต้นไม้ที่ถูกตีตราก็ถูกโค่นจนหมดป่าหลวงพ่อเล่าอย่างรันทดต่อไปว่า ต้นไม้ใหญ่ๆต้นหนึ่ง อายุร่วมร้อยปี เพียงนับ ๑ ไม่ทันถึง ๑๐ ก็โค่นลงด้วยเลื่อยเครื่องจักรคืนแรกๆ หลวงพ่อเดินกลับกุฏิไม่ได้เลย เพราะหนทางถูกซุงทับปิดหมด ต้องปีนป่ายข้ามไปทีละต้นทีละต้นอย่างทุลักทุเลกว่าจะถึงกุฏิ สัตว์ป่าน้อยใหญ่ต้องหลบลี้หนีภัยไปจากวัดอันร่มรื่นซึ่งครั้งหนึ่งเป็นดินแดนอันปลอดภัยที่สุด วัดได้กลายเป็นสมบัติของพ่อค้านานนับปี เครื่องจักรฉุดลากไม้ถูกติดตั้งขึ้นกลางวัด ความวอดวายไม่ได้เกิดแต่เฉพาะไม้ที่ถูกตีตราเท่านั้น ไม้เล็กและไม้ขนาดกลางที่รอดจากการถูกตีตรา กลับต้องมาวอดวายกับรถแรงเยอร์ที่ฉุดลากไม้อย่างไร้ความปราณี ไม่มีอะไรที่ขวางทางเครื่องจักร นอกจากซากแห่งความตายที่ถูกบดขยี้ลงต้นแล้วต้นเล่าซุงบางต้นทับซ้อนกันอยู่ยังหักกลาง เพราะแรงฉุดงัดของเครื่องจักรความเสียหายครั้งนี้นับเป็นฝันอันรุนแรงที่สุดของหลวงพ่อเลยทีเดียว หลวงพ่อทนดูอยู่ไม่นานท่านก็ออกธุดงค์อีกครั้งหนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงของป่าบนภูโค้งที่ถูกโค่นทำลายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ท่านต้องพบกับการธุดงค์กลางเปลวแดดกว่าจะถึงเขตป่าที่เหลืออยู่ ก็ต้องเดินลึกเข้าไปถึงภูหลง และที่ภูหลงชาวบ้านที่นั้นได้ยกผืนป่าชั้น ๑ เนื้อที่นับพันไร่ ถวายให้ท่านตั้งอารามอีกแห่งหนึ่งและป่าที่ภูหลงยังคงสภาพสมบูรณ์ถึงปัจจุบันเพราะ ชาวบ้านที่ภูหลงยังช่วยกันดูแลอารามแห่งนี้ไว้นานๆ จึงจะมีพระจากวัดป่าสุคะโตไปแวะสักครั้ง

ย้อนกลับมายังวัดป่าสุคะโต ไม้ซุงได้ถูกชักลากมาสุมรวมกันอยู่บนลาน (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ของศาลาไก่) วัดป่าไม่เหลือสภาพของวัดป่าต่อไปอีกแล้ว ไม่มีอะไรเหมือนเก่า ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือ กลางคืน ความร้อนของแสง ลมพายุ ฝุ่นควัน เสียงลมต้องใบไม้ ความชุ่มชื้นของผิวดินเสียงนกกาและสรรพสัตว์ แม้แต่สายน้ำยังเปลี่ยนสี หลวงพ่อเล่าว่าถ้าเป็นคนโบราณ เวลาเขาทำไม้เขาจะเลือกเอาเฉพาะต้นขนาดใช้งานเท่านั้น และต้องแน่ใจว่าจะไม่ใหญ่เกินกำลังช้างจะชักลาก ต้องแน่ใจว่าเส้นทางชักลากจะเป็นจริงได้ไม่มีอุปสรรค แต่เครื่องจักรไม่เคยมีการเลือก ยิ่งไม้ใหญ่น้อยที่ยืนต้นอยู่ชายตลิ่งริมฝั่งน้ำนั้น คนโบราณไม่เคยแตะต้องเลย เพราะรู้ว่ากินกำลังช้างจะดึงขึ้นจากตลิ่งสูง อีกสาเหตุหนึ่งก็คือความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษา สายน้ำยังมีอยู่ การทำลายน้ำให้ขุ่นข้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม และนี่เป็นสาเหตุให้รักษาไม้ริมน้ำคู่ กับตลิ่งไว้ตลอดมา นับร้อยนับพันปี

แต่เครื่องจักรอีกนั่นแหละ ไม้ริมฝั่งลำปะทาวไม่มีความหมายอะไร นอกจากถูกตีค่าเป็นเงินและทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้หลังเหตุการณ์โค่นป่าอย่างถูกกฎหมายในครั้งนั้น ลำปะทาวก็เปลี่ยนสีเมื่อไม่มีป่าต้นน้ำเหลือซับน้ำได้ ฤดูแล้งลำปะทาวก็เหือดแห้ง ฤดูน้ำ น้ำก็กัด เซาะตลิ่งพังทลายลง ลำน้ำที่เคยลึกและงดงามกลับตื้นเขิน เต็มไปด้วยดินทรายที่ถูกฝนซะลงจาก ผืนดินเบื้องบน ทุกวันนี้ลำปะทาวก็เป็นเพียงทางระบายน้ำ สายหนึ่งในฤดูน้ำ ส่วนในฤดูแล้งสายน้ำก็แปรสภาพเป็นเพียงแอ่งน้ำเป็นหย่อมๆที่หยุดนิ่งและรอเวลาแห้งเหือด ชะตากรรมนี้ได้ลุกลามไปถึงลำน้ำชี ซึ่งไม่ค่อยจะเต็มใจไหลในฤดูแล้งเสียแล้ว เมื่อลำปะทาวอันสมบูรณ์เปลี่ยนสี สิ่งหนึ่งที่กระทบถึง ชาวบ้านอย่างรุนแรงก็คือปลา ซึ่งเคยมีอุดมสมบูรณ์ ก็ค่อยๆหมดไป กระทบต่อความเป็นอยู่ ของชาวบ้านมากทีเดียว ทุกวันนี้ ในวัดป่าสุคะโตได้ทำฝายเล็กๆ กักเก็บน้ำไว้อยู่บึงหนึ่ง และหลวงพ่อกล้าพูดได้เต็มปากว่า ปลาทุกตัวที่ชาวบ้านบนหลังเขาจับกินจากสายน้ำลำปะทาวนั้น ทั้งหมดมาจากต้นกำเนิดในบึงวัดป่าสุคะโตทั้งสิ้น

หลวงพ่อบุญธรรมได้พักอยู่ที่ภูกาหลงระยะหนึ่ง พอเครื่องจักซักลากไม้ถอนตัวออกไป หลวงพ่อบุญธรรมก็กลับมาอยู่วัดป่าสุคะโตอีกครั้งหนึ่งคราวนี้มีหลวงพ่อคำเขียนมาอยู่ด้วย และหลวงพ่อทั้งสองได้เริ่มปรับปรุงวัดป่า ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของฆราวาสจากแดนไกล ที่มีจิตอันมุ่งมั่นมาหาความวิเวก เพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านในของชีวิต หลวงพ่อบุญธรรมเล่าว่า ไม้ที่เหลืออยู่ในทุกวันนี้เป็น “เดนป่า” ที่บริษัทสัมปทานไม้เหลือทิ้งไว้ ซุงกองมหึมายังกองสุมอยู่นานนับปีกว่ารถจะขนลงเขาไปหมด ไม้เล็กไม้น้อยได้ค่อยๆยืดตัวแตกกิ่งก้านหนาขึ้น สภาพวัดป่ากค่อยๆฟื้นกลับคืนมา แต่ก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว หลวงพ่อคงได้แต่็บ่นเสียดาย ภาพของวัดป่าอันร่มครึ้มในอดีต คงเป็นเพียงความทรงจำถึงวัดป่าในสมัยแรกเริ่ม

แม้ว่าหนทางที่ป่าจะคืนสภาพสมบูรณ์เช่นเก่าก่อนยังมีอยู่ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานและหลวงพ่อคงอยู่ไม่ทันได้ชื่นชมอีกเป็นแน่ ในระยะหลังได้เกิดเหตุการณ์รุกรานป่าอีก ทั้งนี้เพราะเมื่อป่าหมดไป ไม้กลายเป็นสิ่งหายาก วิธีง่ายที่สุดก็คือตัดใน “เดนป่า” ของวัดป่าสุคะโต เมื่อสมเด็จย่าเสด็จเยี่ยมพสกนิกรบนหลังเขาเมื่อปี ๒๕๑๙ ครูใหญ่จากโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวานมาขอตัดไม้สวยๆในวัดไปทำซุ้มเห็ดรับเสด็จ หลวงพ่อเห็นว่าเป็นเหตุอันควรจึงอนุญาตและท่านก็มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางลงเขาไม่ได้อยู่ดูแลวัด ครั้นกลับขึ้นมาหลังเขา พบว่าในวัดมีตอไม้เพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยตอ หลวงพ่อก็ทำได้เพียงมีจดหมายไปต่อว่าครู